เป็นโปรโตซัวในเลือดกลุ่ม Haemosporozoa จัดอยู่ใน Phylum Apicomplexa พบเชื้อครั้งแรกในนกฮูก  เชื้อในปัจจุบันมีทั้งหมด  67 species  แต่ส่วนใหญ่จะพบในนกป่าเกือบทุกแห่งในโลก  และยังสามารถพบเชื้อนี้ได้ในไก่เลี้ยงแบบอุตสาหกรรมและไก่พื้นเมือง  ในประเทศไทยส่วนใหญ่มีรายงานพบแต่ในไก่ส่วนข้อมูลในนกยังมีน้อย ชนิดของเชื้อที่สำคัญมี 4 ชนิด  ได้แก่  Leucocytozoon  caulleryi  และ  L. sabrazesi  พบในไก่เลี้ยง   ซึ่งทั้งสองชนิดสามารถพบได้ในประเทศไทย  โดยที่ L. sabrazesi  มีรายงานพบในภาคใต้ของประเทศไทย  ส่วน L. simondi  พบในเป็ด-ห่าน  และ L. smithi   พบในไก่งวง เชื้อส่วนใหญ่ถูกนำโดย  Simulium  (black fly) ยกเว้น  L. caulleryi  ซึ่งนำโดย  Culicoides

เม็ดเลือดที่ติดเชื้อระยะที่พบในเม็ดเลือด คือ ระยะ gametocyte โดยพบในเม็ดเลือดแดงและเม็ดเลือดขาว ซึ่งขึ้นกับชนิดของเชื้อ ดังนี้

1. L. caulleryi    พบ mature gametocyte ที่มีรูปร่างกลม (round gamont)  อยู่ในไซโตพลาสซึมของเม็ดเลือดแดงเท่านั้น   โดยเชื้อจะเบียดนิวเคลียสของเม็ดเลือดแดงจนมีลักษณะเป็นแถบแบนติดสีเข้มเป็นขอบรอบนอกล้อมตัวเชื้อประมาณหนึ่งในสาม  และบางครั้งพบว่านิวเคลียสของเม็ดเลือดแดงอาจยื่นออกนอกเซลล์        ระยะ  macrogamont  มีไซโตพลาสซึมติดสีน้ำเงินเข้มและนิวเคลียสติดสีชมพู        ส่วน   microgamont  จะคล้ายกับ macrogamont  แต่จะติดสีจางกว่าและนิวเคลียสจะกระจายตัวไม่อัดแน่นเท่า  macrogamont    แต่โดยทั่วไป gamont  ทั้ง 2 ชนิด จะแยกออกจากกันได้ค่อนข้างยาก

2. L. sabrazesi ระยะ gametocyte พบได้ในเม็ดเลือดแดงและเม็ดเลือดขาว โดยมีรูปร่าง 2 แบบ คือ

2.1 แบบ elongate form   ตัวเชื้อจะเบียดนิวเคลียสของเม็ดเลือดออกทางด้านข้างทำให้มีลักษณะเป็นแถบที่แคบและยาวไปตามขอบของตัวเชื้อ       ส่วนไซโตพลาสซึมของเม็ดเลือดจะยาวออกไปเป็นลักษณะเขา (horn) ทั้ง 2 ข้าง ของตัวเชื้อ

2.2 แบบ round form   ตัวเชื้อมีรูปร่างกลม มีนิวเคลียสของเม็ดเลือดล้อมรอบเซลล์ของเชื้อ และไม่มี horn เหมือนแบบ elongate form   แต่แบบนี้จะพบในกระแสเลือดได้น้อยกว่าแบบ elongate form      การติดสีของไซโตพลาสซึมและนิวเคลียสของเชื้อจะคล้ายกับ L. caulleryi     ส่วนเซลล์เม็ดเลือดที่ติดเชื้อนั้นจะแยกได้ยากว่าเป็นเม็ดเลือดชนิดใด      เนื่องจากเม็ดเลือดมีรูปร่างและขนาดผิดไปจากปกติ

3. L. simondi   มีลักษณะเช่นเดียวกับ L. sabrazesi โดย mature gametocyte สามารถพบได้ทั้งในเม็ดเลือดแดงและเม็ดเลือดขาว   รูปแบบ gamont มีทั้ง elongated และ round form   แต่จะพบในแบบ elongated rorm มากกว่า และพบ macrogamont มากกว่า microgamont ด้วย    ส่วนลักษณะการติดสีย้อมจะคล้ายกับ L. caulleryi

4. L. smithi เช่นเดียวกับ L. sabrazesi โดย mature gamont พบได้ทั้ง 2 แบบและพบได้ทั้งในเม็ดเลือดแดงและเม็ดเลือดขาว    แต่ในรูปบบ elongated form นั้นบางครั้งพบว่านิวเคลียสของเม็ดเลือดจะเป็นแถบบาง ๆ อยู่ทั้ง 2 ด้านของเชื้อ

5. Leucocytozoon ที่พบในนก เช่น   L. marchouxi พบในนกพิราบ และ L. fringillinarum พบในนก purple grackle เป็นต้น โดยพบว่าถ้าเป็นเชื้อที่พบในนกอพยมมักจะเป็นเชื้อที่มีรูปร่าง mature gamont เป็นแบบ round form อย่างเดียว เช่น L. fringillinarum  และ L. majoris

ชีพจักร

เริ่มจากระยะ  gamont  ที่อยู่ในเม็ดเลือดถูกกินโดยพาหะ   พาหะดังกล่าว คือ ริ้นดำ  (Simulium)  เช่น  S. rugglesi, S. anatinum และ S. innocens  ซึ่งเป็นพาหะของ L. simondi    โดยส่วนใหญ่ Leucocytozoon มีพาหะเป็น Simulium   ยกเว้น L. caulleryi  พาหะ คือ Culicoides   เช่น  C. arakawae, C. circumscriptus และ C. odibilis  จากเหตุผล 2 ข้อ  ได้แก่  การมีพาหะเป็น Culicoides  และ gamont มีรูปร่างแบบเดียว  ทำให้จัด L. caulleryi  อยู่ในสกุล  Akiba ดังนั้นจึงเป็น  Akiba  caulleryi  ระยะ gamont ที่เข้าสู่ midgut  ของพาหะจะมีรูปร่างกลมขึ้นและออกจากเซลล์เม็ดเลือดโดยการกระตุ้นจากความเข้มข้นของ O2 และ CO2 ในสิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไป      โดยระยะ microgamont  จะแบ่งเซลล์ให้  8 microgametes  ซึ่งแต่ละเซลล์จะมี flagellum1 เส้น     ซึ่งสามารถเคลื่อนที่ไปหา  macrogamete ได้  โดยที่ macrogamete 1 เซลล์มาจากการเปลี่ยนแปลงของ macrogamont    เมื่อผสมกันจะได้ zygote ที่สามารถเคลื่อนที่ได้ (ookinete) ระยะ zygote จากเดิมที่มีรูปร่างกลม จะเปลี่ยนแปลงให้มีรูปร่างรีและยาวขึ้นซึ่งจะไชเข้าสู่ผนังของ  midgut และเปลี่ยนแปลงไปเป็น oocyst ที่ผนังชั้นนอกของ midgut ซึ่ง oocyst จะอยู่ใต้ชั้น basal lamina     โดย oocyst  มีขนาดมากกว่า 25 ไมครอน   แต่ของ L. simondi  มีขนาด 10 – 12 ไมครอน       แต่โดยรวมแล้วจะมีขนาดเล็กกว่า  oocyst  ของ  Plasmodium   ภายใน oocyst  จะมีขบวนการ  sporogony เกิดขึ้น ทำให้ภายใน oocyst มี  sporozoite อยู่จำนวนมาก  และต่อมาผนัง oocyst  จะแตกออกทำให้เป็นการปล่อย  sporozoite  เข้าสู่ช่องว่างลำตัวของพาหะ (hemocoel)  ซึ่งจะเคลื่อนที่ไปยังต่อมน้ำลายโดยเข้าไปอยู่ในต่อมน้ำลายและพร้อมที่จะเข้าสู่สัตว์ปีกต่อไป  เวลาที่ใช้สร้าง sporozoite  จะนานประมาณ 6 – 7 วัน  sporozoite ในต่อมน้ำลายจะมีการพัฒนาของ apical camplex เจริญดีกว่าใน oocyst และมีรูปร่างเรียวกว่าด้วย  เมื่อพาหะของเชื้อเข้ากัดสัตว์ปีก  sporozoite  ที่อยู่ในต่อมน้ำลายจะเข้าสู่สัตว์ปีกพร้อมกับน้ำลายของพาหะที่ฉีดเข้าสู่ผิวหนัง        จากนั้น  sporozoite  จะเข้าสู่กระแสเลือดและไปยังอวัยวะดังต่อไปนี้  ได้แก่ ไต  ม้าม  ตับ  ตับอ่อน  กล้ามเนื้อ  ลำไล้  รังไข่  ต่อมหมวกไต หลอดลมและสมอง  โดยเซลล์ที่พบบ่อย ๆ ว่าติดเชื้อ ได้แก่  hepatic parenchymal cell, renal epithelial cell  และ  reticuloendothelial cell   โดยเฉพาะในม้ามและต่อมน้ำเหลือง  ยกเว้น  L. caulleryi  ที่ sporozoite  มักเข้าสู่ endothelial cell ของ visceral organ เมื่อเข้าสู่เซลล์ดังกล่าวจะเกิดขบวนการ primary merogony       ซึ่งผลิตให้ meront ที่มีขนาดตั้งแต่ 20 – 40 ไมครอน (4 – 5 วันหลังติดเชื้อ) ภายในมี merozoite  ที่มีขนาด 1 ไมครอนประมาณ 1,000 เซลล์   นอกจากนี้ใน primary meront  ของ  L. simondi  จะมีชิ้นส่วนเล็ก ๆ ที่มีนิวเคลียสตั้งแต่สองอันขึ้นไป (syncytia)  อยู่ร่วมกับ merozoite  เมื่อผนัง meront แตกออกจะเป็นการปลดปล่อย  merozoite และ syncytia (กรณีของ  L. simondi)  ออกมา  primary merozoite ของ L. caulleryi  จะเข้าสู่  endothelial cell  และกลายเป็น  secondary meront  และ  megalomeront  ที่ผลิตให้  merozoite  ที่พร้อมจะเข้าสู่เม็ดเลือดแดงต่อไป  ส่วนกรณี  primary meront ของ L. simondi นั้นเมื่อผนัง meront  แตกออก merozoite จะเข้าสู่เม็ดเลือดแดงเพื่อเปลี่ยนแปลงไปเป็น gametocyte  ทันที       แต่  syncytia  ที่ออกมาจะมีการสร้าง  secondary meront  ใน hepatic parenchymal cell  หรือ  vascular endothelial cell ต่อไป  ซึ่ง meront  ที่มาจาก   syncytia   จะมีการขยายขนาดค่อนข้างเร็ว  มีขนาด 100 – 200 ไมครอน  เรียกว่า Megalomeront หรือ Megaloschizont    ซึ่งภายในมี merozoite ที่มีขนาด 1 ไมครอนจำนวนมากกว่า 1 ล้านเซลล์   ระยะ merozoite จาก megaloschizont  จะเข้าสู่เม็ดเลือดขาวและกลายเป็น elongate gametocyte ต่อไป

merozoite ที่เข้าสู่เม็ดเลือดจะมีขนาด 1 – 2 ไมครอน  โดยจะอยู่ชิดติดกับนิวเคลียสของเม็ดเลือด  primary merozoite  ของ L. simondi และ secondary merozoite ของ  L. caulleryi  จะเข้าสู่เม็ดเลือดแดงทั้งชนิด  erythrocyte และ erythroblast  โดยจะกลายเป็น  round gametocyte ต่อไป     ระยะ  prepatent peroid  ของเชื้อ  L. caulleryi  นานประมาณ 14 วัน     ส่วนระยะเวลาที่มี  parasitemia  จะนานประมาณ 1 สัปดาห์   หลังจากนั้นจะพบ  gamont  ลดลงเรื่อย ๆ จนหายไปจากกระแสเลือด (รวมทั้งหมดประมาณ 14 วัน)      ในกรณีของนกที่ติดเชื้อ  Leucocytozoon  ที่ไม่ก่อโรครุนแรง  ลักษณะของโรคจะเป็นแบบ chronic infection  ที่มีระดับ  parasitemia  ค่อนข้างต่ำและมักจะพบเป็นเวลาสั้น ๆ   นอกจากนี้ในไก่หรือเป็ดที่มีชีวิตรอดจากการติดเชื้อจะสามารถกลับมามีเชื้อในกระแสเลือดใหม่อีกได้  โดยเป็นเชื้อที่มาจากระยะ  meront  ใน  visceral  organ (recurrence)    ซึ่งเป็นการปลดปล่อย merozoite จาก megalomeront    ลักษณะรูปแบบของ  parasitemia  ในระยะ  chronic stage   มักเป็นแบบ  irregular parasitemia   คือ   จะมีรูปแบบการปรากฏของเชื้อในกระแสเลือดแบบไม่แน่นอนทั้งจำนวนเชื้อและระยะเวลา อันเป็นผลมาจากความไม่แน่นอนของ host immunity     โดยมักพบได้ในช่วงดังต่อไปนี้  เช่น   การออกไข่  การสร้างรัง   การแย่งพื้นที่อาศัย  และการอพยพ  ซึ่งทั้งหมดจะก่อให้เกิดความเครียดอันจะเป็นผลให้ระดับภูมิคุ้มกันในร่างกายลดลง

ได้มีรายงานกล่าวไว้ว่าในบางครั้งพาหะที่เหมาะสมต่อเชื้อเมื่อได้รับเชื้อเข้าไปอาจไม่สร้าง oocyst ขึ้นที่ผนัง midgut  เหตุผลเนื่องมาจากปกติก้อนเลือดใน midgut นั้นจะมี peritrophic membrane ที่ร่างกายพาหะสร้างขึ้นคลุมก้อนเลือดที่พาหะกินเข้าไป    ซึ่งเยื่อดังกล่าวจะขัดขวางการไชของ ookinete ที่จะออกจากก้อนเลือดไปยังผนัง midgut     และก้อนเลือดดังกล่าวจะอยู่ในร่างกายพาหะประมาณ 3 – 4 วัน  หลังจากนั้นจะถูกขับออก   หากการสร้าง  ookinete  เกิดขึ้นช้าจะเป็นผลให้  ookinete  ถูกขับออกไปพร้อมกับก้อนเลือดดังกล่าวด้วย

Comments are closed.