เป็นโปรโตซัวในเลือดกลุ่ม Haemogregarines จัดอยู่ใน Phylum Apicomplexa เชื้อมีรูปร่างลักษณะเป็นสี่เหลี่ยมค่อนข้างยาวดูคล้ายไส้กรอก มีความยาวประมาณ 8 – 12 ไมครอน กว้าง 3 – 6 ไมครอน ตัวเชื้อถูกล้อมรอบด้วยแคปซูลที่บอบบาง ซึ่งเมื่อย้อมแผ่นฟิลม์เลือดด้วยสี Giemsa‘s หรือ Wright‘s stain แคปซูลจะติดสีฟ้าอ่อน โดยตรงกลางเชื้อมีนิวเคลียสติดสีม่วงน้ำเงินอยู่ภายในแคปซูล พบแกรนูลติดสีชมพูกระจายอยู่ทั่วไปในไซโตพลาสซึม ตัวเชื้ออยู่ในไซโตพลาสซึมของเม็ดเลือดขาวโดยจะเบียดนิวเคลียสของเม็ดเลือดขาวทำให้มีรูปร่างนิวเคลียสของเม็ดเลือดขาวผิดไปจากปกติ หรืออาจจะไม่เบียดนิวเคลียสของเม็ดเลือดขาวถ้าเชื้ออยู่ในเม็ดเลือดขาวชนิด monocyte ที่มีขนาดใหญ่
ชีพจักร
สุนัขติดเชื้อโดยการกินเห็บซึ่งเป็นพาหะของโรคเข้าไปโดยบังเอิญ เห็บดังกล่าวได้แก่ Rhipicephalus sanguineus และ Haemaphysalis ที่มีเชื้ออยู่ โดยเชื้อระยะติดต่อจากเห็บจะเป็นเชื้อระยะ sporozoite ที่อยู่ภายใน sporocyst ในช่องว่างลำตัวของเห็บ หลังจากเชื้อเข้าสู่ร่างกายสุนัข sporozoite จะออกจาก sporocyst และไชผนังลำไส้สุนัขผ่านเข้าสู่กระแสเลือดไปยังอวัยวะต่าง ๆ เช่น ม้าม ตับ ไขกระดูก ต่อมน้ำเหลืองและกล้ามเนื้อ โดยเฉพาะอย่างยิ่งพบมากที่กล้ามเนื้อลายและกล้ามเนื้อหัวใจ เชื้อจะเข้าสู่ endothelial cell ในอวัยวะดังกล่าวและเริ่มมีการเกิดขบวนการ schizogony โดยการเพิ่มขนาดและแบ่งเซลล์ภายในกลายเป็นระยะ schizont ซึ่ง schizont มี 2 แบบ แบบแรก คือ macroschizont ซึ่งจะมีการสร้าง merozoite จำนวนเล็กน้อย (ประมาณ 3 เซลล์) แต่ merozoite มีขนาดใหญ่ ซึ่ง merozoite ที่ได้ในชนิดนี้จะเข้าสู่ endothelial cell ใหม่หลังจากออกจาก schizont อันเดิม และกลายเป็น schizont ใหม่ที่จะผลิตให้ merozoite ต่อไป และแบบที่สอง คือ microschizont เป็นแบบที่ผลิตให้ merozoite จำนวนมาก (ประมาณ 30 – 40 เซลล์) ซึ่ง merozoite ที่ได้จะออกจาก schizont แล้วเข้าสู่เม็ดเลือดขาวกลายเป็นระยะ gametocyte (gamont) ต่อไป ขบวนการ schizogony สามารถเกิดขึ้นได้หลายครั้งตราบใดที่ merozoite ที่ได้ยังเข้าสู่ endothelial cell ใหม่ก็จะสร้าง schizont ใหม่ได้เรื่อย ๆ แต่ขบวนการ schizogony จะสิ้นสุดลงหาก merozoite ที่ได้เข้าสู่เม็ดเลือดขาวชนิด Neutrophil และ Monocyte ต่อไป ระยะ microgamont และ macrogamont ในเม็ดเลือดขาวมีรูปร่างไม่แตกต่างกันจึงไม่สามารถแยกจากกันได้
เมื่อเห็บดูดเลือดสุนัขเข้าสู่ทางเดินอาหาร เชื้อระยะ gamont จะออกจากเม็ดเลือดขาว จากนั้น microgamont จะให้ 2 non – flagellate microgametes และ macrogamoant จะให้ 1 macrogamete ซึ่งจะถูก microgamete ผสม แล้วกลายเป็น motite zygote (ookinete) จากนั้น ookinete จะไชทะลุผนังทางเดินอาหารเห็บเข้าสู่ช่องว่างลำตัวของเห็บ ookinete จะกลายเป็น oocyst ซึ่งภายในประกอบด้วย sporocyst ประมาณ 30 – 50 อัน โดยแต่ละ sporocyst มี sporozoite ประมาณ 12 – 24 เซลล์ (เฉลี่ย 16 เซลล์) การถ่ายทอดเชื้อในเห็บเป็นแบบ transtadial transmission ในแมวนั้นนอกจากติดทางการกินเห็บแล้วยังสามารถติดได้โดยการกินสัตว์ที่มีเชื้ออยู่ในเนื้อเยื่อ เช่น หนู โดย meront ที่เป็นระยะติดต่อในหนูสู่แมว คือ meront ที่ภายในประกอบด้วย merozoite 1 – 2 เซลล์