Epidemiology

เป็นโปรโตซัวในเลือดกลุ่ม Haemoflagellate จัดอยู่ใน Phylum Sarcomastigophora พบแพร่กระจายไปทั่วโลกโดยเชื้อมีพาหะเป็นริ้นฝอยทราย เชื้อก่อให้เกิดโรค leishmaniasis โดยในทางคลินิกโรคถูกแบ่งออกเป็น 2 แบบใหญ่ๆ คือ visceral leishmaniasis และ cutaneous  leishmaniasis โดยชนิด visceral พบส่วนใหญ่ในเอเชีย ตะวันออกกลาง แถบเมดิเตอร์เรเนียน อเมริกาใต้ และแอฟริกา ส่วนชนิด cutaneous แบ่งออกเป็นชนิด old world และ new world โดยแบบ old world leishmaniasis (oriental sore) พบในบางส่วนของเอเชีย แอฟริกา และแถบเมดิเตอร์เรเนียน    ในขณะที่ new world leishmaniasis (bay sore) พบในแถบอเมริกากลางและใต้ นอกจากนี้ยังมีอีกแบบหนึ่งของโรค คือ mucosal leishmaniasis (espundia) ซึ่งเป็น subtype ของ cutaneous leishmaniasis โดยในบางครั้งอาจจัดอยู่ในกลุ่ม New world ได้เช่นกัน เชื้อ Leishmania มีอย่างน้อย 17 ชนิดที่ก่อโรคได้ ในปี ค.ศ.1993 WHO ได้ประมาณว่าคนจำนวน 350 ล้านคนทั่วโลกเสี่ยงต่อการเป็นโรค leishmaniasis แหล่งที่มีการแพร่ระบาดของโรคขนาดใหญ่ ได้แก่ ประเทศอินเดีย บังคลาเทศ ซูดานและบราซิล การระบาดของโรคมักพบร่วมกับภาวะการขาดอาหาร การอพยพเคลื่อนย้ายเป็นกลุ่มใหญ่      และการเกิดสงคราม การแพร่กระจายของโรคมักมีรูปแบบแตกต่างกันตามแหล่งภูมิศาสตร์ ในอินเดียโรค visceral leishmaniasis (black fever, dumdum fever, kala – azar) มักจะติดต่อจากคนสู่คนโดยผ่านริ้นฝอยทราย แต่ในแถบเมดิเตอร์เรเนียน สุนัขและสัตว์ชนิดอื่นๆ สามารถเป็น reservoir host ให้กับเชื้อได้ การติดต่อของโรคนอกจากผ่านทางริ้นฝอยทรายแล้วยังผ่านได้อีกทางการใช้เข็มฉีดยาร่วมกัน การถ่ายเลือดและการถ่ายทอดเชื้อผ่านทางรก

Parasitology

เชื้อ Leishmania ทุกชนิดมีรูปร่างไม่แตกต่างกัน แต่เชื้อถูกจัดแบ่งออกเป็นกลุ่มจากลักษณะรูปแบบของการก่อโรค แหล่งที่พบการระบาดของเชื้อ ลักษณะของเชื้อในแมลงพาหะ การเจริญเติบโตในอาหารเลี้ยงเชื้อ และรูปแบบการตอบสนองทางภูมิคุ้มกันต่อเชื้อของโฮสต์ ในปัจจุบันการแยกชนิดใช้วิธีการตรวจหา isoenzyme ของเชื้อในระยะ promastigote นอกจากนี้ยังใช้วิธี  kinetoplast DNA hybridization และวิธี PCR + DNA sequencing ซึ่งการจัดแยกเชื้อตามอนุกรมวิธานแบ่งกลุ่มเชื้อออกเป็น 4 complexes และ 2 subgenera ซึ่งใน 2 subgenera ได้แก่ L. leishmania และ L. viannia   โดย L. viannia มีการเจริญเติบโตที่บริเวณ hindgut ของริ้นฝอยทรายแล้วค่อยเคลื่อนย้ายไปยัง midgut และ foregut ตามลำดับ ในขณะที่ L. leishmania  มีการเจริญและเพิ่มจำนวนที่ midgut และ foregut

เชื้อมีรูปร่างอยู่ 2 แบบ คือ amastigote form พบในเนื้อเยื่อของ vertebrate host มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 2 – 3 ไมครอน ภายในเซลล์พบโครงสร้างเฉพาะนิวเคลียสและ kinetoplast อีกรูปแบบ คือ promastigote พบในริ้นฝอยทรายและในอาหารเลี้ยงเชื้อ มีความยาว 15 – 20 ไมครอน และกว้าง 1.5 – 3.5 ไมครอน เชื้อถูกถ่ายทอดโดยริ้นฝอยทรายสกุล Phlebotomus ยกเว้นเชื้อในกลุ่มที่ก่อโรค new world leishmaniasis ถูกถ่ายทอดโดยริ้นฝอยทรายสกุล Lutzomyia วัฏจักรเริ่มโดยเมื่อริ้นดูดกินเลือดจาก vertebrate host เชื้อระยะ amastigote จะถูกกินเข้ามาด้วย เชื้อเปลี่ยนไปเป็นระยะ  promastigote และมีการแบ่งเซลล์เพื่อเพิ่มจำนวน จากนั้นเคลื่อนที่ไปที่ส่วน pharynx และ proboscis ของแมลงภายใน 1 สัปดาห์หลังจากที่เข้าสู่ตัวแมลงดังกล่าว สัตว์ติดเชื้อได้ขณะที่ริ้นกำลังดูดกินเลือดซึ่งเชื้อระยะ promastigote ถูกปลดปล่อยเข้าสู่ผิวหนังของโฮสต์ จากนั้นเชื้อมักถูกจับกินทันทีโดย macrophage แต่ว่า macrophage ไม่สามารถฆ่าเชื้อได้ เชื้อเปลี่ยนรูปร่างไปเป็น amastigote form และมีการเพิ่มจำนวนต่อไปภายในเซลล์ macrophage ด้วยวิธี binary fission จนกระทั่งมีจำนวนมากขึ้น ซึ่งเป็นผลให้เซลล์ macrophage แตกออกในที่สุด จากนั้นเชื้อจะโดน macrophage เซลล์ใหม่จับกินและเชื้อมีการเพิ่มจำนวนต่อไปอีกเรื่อยๆ

 

Comments are closed.